จากกรณีที่เกิดพายุพัดกรรโชกรุนแรงในทะเลอ่าวไทยบริเวณ อ.ท่าศาลา และ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เรือประมงพื้นบ้านล่มกลางทะเลหลายสิบลำ ลูกเรือต้องลอยคอกลางทะเล ในขณะที่เจ้าหน้าที่ ปภ.นครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่กู้ภัย กู้ชีพจากมูลนิธิต่าง ๆ ระดมสรรพกำลังออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างยากลำบาก และสามารถช่วยเหลือจนปลอดภัยนำส่ง รพ.ปากพนัง รพ.ท่าศาลา ในเบื้องต้นชาวประมงพื้นบ้านใน ต.แหลมตะลุมพุก ผู้เสียชีวิตที่ รพ.ปากพนัง 1 ราย และบาดเจ็บใน 2 พื้นที่กว่า 10 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการออกไปตรวจสอบช่วยเหลือกลาทะเลและจะสรุปยอดความเสียหาย ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างเป็นทางการต่อไปตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
(16 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนในพื้นที่ อ.สิชล เกิดเหตุเรืออับปางบริเวรปากร่องสิชล เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ เขตสิชล ได้ทำการช่วยเหลือไว้ได้ 3 ราย และอีกรายได้สูญหายยังค้นหาไม่พบอีก 1 ราย ทางมูลนิธิกู้ภัยสยามรวมใจปู่อินทร์ ร่วมกับเจาหน้าที่ ปภ.นครศรีธรรมราช (สิชล) ระดมกำลังเร่งค้นหาต่อเนื่องแต่ยังไม่พบ
ในขณะที่นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมนางพิชานันท์ เผือกผ่อง นายกเหล่ากาชาดและประธานแม่บ้านมหาดไทย เดินทางไปที่บริเวณชายฝั่งแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง สั่งตั้งกองบัญชาการเพื่อให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงจากเหตุเรือล่มกลางทะเลพร้อมลงพื้นที่ติดตามบัญชาการเหตุการณ์ด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด แต่จากกระแสคลื่นลมแรงจัดจึงได้อำนวยการสั่งการ และประสานงานไปยัง พลเรือโท จรัสเกียรติ ไชยพันธุ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาค2 เพื่อขอสนับสนุนเรือตรวจการ จำนวน 2 ลำ ออกปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย เบื้องต้นได้รับการสนับสนุนและอยู่ระหว่างการเดินทางจากเกาะสมุยเพื่อปฏิบัติการออกค้นหาและช่วยเหลือลูกเรือแล้ว พร้อมกันนี้ได้ประสานงานไปยัง พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองบังคับการ กองบิน 7 หรือ บน. 7 สุราษฎร์ธานี ในการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ เพื่อออกปฏิบัติการค้นหาทางอากาศในการระบุเป้าหมายและสนับสนุนชูชีพ
ทั้งนี้จากข้อมูล พบว่ามีเรือประมงติดอยู่กลางทะเล ที่ขาดการติดต่อแล้ว จำนวน 2 ลำ ลูกเรือจำนวน 5 คนและมีเรือประมงที่ยังสามารถติดต่อได้ แต่ไม่สามารถเข้าฝั่งได้ จำนวน 3 ลำ ลูกเรือ 6 คน โดยความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง ในขณะที่ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ออกประกาศที่ 104/2566 ลงวันที่ 16 เมษายน 2566 เรื่อง ห้ามเรือเล็กทุกชนิดออกจากฝั่งทุกอำเภอที่ติดชายทะเลอ่าวไทย โดยระบุว่ากองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 2 (103/2566) ลงวันที่ 13 เมษายน 2566 เวลา 15.00 น แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 15-16 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น
“ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณอ่าวไทย เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 16-17 เมษายน 2566 และจากการประเมินสภาพอากาศและคลื่นลมในทะเลพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กอปรกับการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้อำนวยการจังหวัด อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 15 “ประกาศ ห้ามเรือเล็กทุกชนิดออกจากฝั่งทุกอำเภอที่ติดชายทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 17 เมษายน 2566”
ไพฑูรย์ อินทศิลา/นครศรีธรรมราช