วันจันทร์, 16 กันยายน 2567

จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานอนุกรรมาธิการ การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร แจงเอาผิดโฆษณาขายสินค้าผ่านโซเซียลและไม่ตรงปก

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ห้อง N 409 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานอนุกรรมาธิการ การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไป ซื้อสินค้าผ่านทางโซเซียลแล้ว ได้รับสินค้าไม่ตรงปกหรือได้สินค้าไม่ตรงกับที่ประกาศขายผ่านทางออนไลน์ว่า สินค้าที่ไม่ตรงปกจะพบการขายผ่านทางเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ซึ่งส่วนใหญ่คนขายเป็นรายย่อย ทั้งที่ภาครัฐพยายามสนัมสนุนผู้ค้ารายย่อยอยู่แล้ว เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยจะไปได้ดี ผู้ประกอบการ SMEs ต้องแข็งแรง อย่างไรก็ตามยังพบผู้ขายสินค้าที่ไม่มีความรับผิดชอบ ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้ผู้ขายสินค้ารับผิดชอบกับผู้บริโภค หรือประชาชนผู้ซื้อสินค้าแล้ว ไม่ได้สินค้าตามที่สั่งกับผู้ขายสินค้า

นายจิตติพจน์กล่าวว่า สำหรับการดำเนินคดีกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าไม่ตรงปกคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 กล่าวโดยสรุปเมื่อผู้ขายมีการโฆษณาขายสินค้าแล้ว และผู้ซื้อซื้อไปแล้วหากมีปัญหาจะต้องได้รับการชดเชย นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. หรือร้องเรียนมาที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีคณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจในข้อหาฉ้อโกง หรือฟ้องร้องในทางแพ่งเพราะเป็นสัญญาซื้อขายอย่างหนึ่ง เมื่อผิดสัญญาจะต้องรับผิดชอบทางแพ่งด้วย อาทิ ซื้อรองเท้าได้ถุงเท้า หรือซื้อผ้าคลุมรถ แต่ได้ผ้าคลุมรถเด็กเล่น และไม่ตรงกับแบบที่โฆษณาขายสินค้าทางออนไลน์ ที่สำคัญการประกาศขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต หากมีการขายสินค้าไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือโฆษณาเกินความเป็นจริงก็มีความผิดตา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วย ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับอีกด้วย