ฮ.2ลำ..บิ๊กท้อป สั่งการ รักษาการอธิบดีอุทยานฯ ใช้ฮ.2ลำ พร้อมทีมเจ้าหน้าที่ แก้ปัญหาไฟป่าเมืองกาญจน์ พร้อมประสานกรมฝนหลวงฯ ทำฝนเทียม 11-13 มี.ค.นี้ ตั้ง War Room เฝ้าระวัง ทั่วประเทศ จ่อปิดอุทยานฯหลายแห่ง เตือนบุกรุกป่า เผาป่าโทษหนัก จับ-ปรับจริง
เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 7 มี.ค.2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง รักษาราชการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการ หรือ War Room โดยมีศูนย์บัญชาการของกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นศูนย์บัญชาการหลัก และมีเครือข่ายในหัวเมืองหลัก เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ที่เป็น War Room ส่วนหน้าในการประสานงานกับทุกจังหวัด
รวมถึง War Room ของอุทยานแห่งชาติฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่จะส่งกำลังพลออกปฏิบัติการดับไฟป่า ซึ่งขณะนี้เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ และท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ลงพื้นที่ดับไฟจำนวนมาก
ในส่วนพื้นที่จ.กาญจนบุรี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง รักษาราชการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เรียกประชุม หัวหน้าทุกอุทยานฯรวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อวางแผนดำเนินการเข้าพื้นที่ ดับไฟป่าอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย นายอนันต์ โพธิ์พันธ์ สบอ.3(บ้านโป่ง) นายมานะ เพิ่มพูน ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นายประวัฒน์ พวงทอง หน.อุทยานฯเอราวัณ นายไชยวุฒิ อารีย์ชน หน.อุทยานฯเขื่อนศรีนครินทร์ นายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หน.อุทยานฯลำคลองงู นายอภิสิทธิ์ สมบัติมาศ หน.อุทยานฯเขาแหลม นายเจริญ ใจชน หน.อุทยานฯทองผาภูมิ นายสุพล คำเสนาะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค นายสิขกพงษ์ กระแจะจันทร์ หน.อุทยานฯเฉลิมรัตนโกสินทร์ นายศุภฤกษ์ กลั่นประเสริฐ หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (ด้านตะวันตก) นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หน.เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าสลักพระ
นายอรรถพล เผยหลังขึ้นฮ.บินสำรวจสถานการณ์ไฟป่าอีกว่า บริเวณพื้นที่ป่า ตามแนวเขตอุทยานแห่งชาติฯ พบว่าสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน ในจังหวัดกาญจนบุรี เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในช่วง 3-5 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ป่าตะวันตก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู และพื้นที่ใกล้เคียง
บริเวณพื้นที่ป่าตามแนวเขตอุทยานแห่งชาติฯ พบ Hotspot เป็นจำนวนมาก ทั้งจุดที่เคยเกิดขึ้นไปแล้ว และกำลังมีการเผาไหม้ โดยเฉพาะด้านทิศเหนือริมเขื่อนศรีนครินทร์ ที่มีการเผาไหม้ เกิดเป็นกลุ่มไฟขนาดใหญ่ กินพื้นที่เป็นบริเวณวงกว้าง ทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ มีการลุกลามไปยังป่าดิบแล้ง ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก หากเดินเท้าต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนจะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ขนน้ำไปเพื่อดับไฟ พร้อมประสานกรมฝนหลวง และการบินเกษตร ในการทำฝนเทียม ซึ่งคาดว่า จะสามารถเริ่มปฏิบัติการได้ในวันที่ 11-13 มีนาคม 2566 นี้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาไฟป่าเบื้องต้น และหลังจากนี้จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น