เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจัดประชุมติดตามผลการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ประจำเดือนมีนาคม 2566 เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการเดินลาดตระเวนมาวิเคราะห์วางแผนด้านการป้องกันทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดมาตรฐานในการลาดตระเวนขึ้น โดยมีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งปัจจัยนิเวศที่พบ ร่องของสัตว์ป่า ตลอดจนภัยคุกคามต่างๆ จากผู้ที่เข้ามาในพื้นที่โดยมีเจตนาในการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่า โดยในวันนี้ได้มีการจัดประชุมเพื่อติดตามผลการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ประจำเดือนมีนาคม 2566 ขึ้น ตามนโยบายของผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มุ่งเน้นการป้องกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างปลอดภัย
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติในลำดับที่ 28 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 1.8 ล้านไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การเดินลาดตระเวนป่าจึงเป็นภารกิจที่ยากลำบากและท้าทายของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมีภูมิประเทศที่มีภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนและติดชายแดนกับประเทศเมียนมาร์ ประกอบกับมีแม่น้ำสายหลักและสาขาต่างๆ มากมาย จึงมีอุปสรรคในการลาดตระเวนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในวันนี้ชุดลาดตระเวนที่ กจ. 6 (แม่สะเรียง) และชุดลาดตระเวนที่ กจ. 11 (แค้มป์นก) ได้นำภาพระหว่างการลาดตระเวนป่าในช่วงระหว่างวันที่ 13 – 16 มีนาคม 2566 และวันที่ 20 – 26 มีนาคม 2566 มานำเสนอในที่ประชุม นอกจากการเดินเท้าลาดตระเวนพื้นที่แล้วยังได้มีการต่อแพไม้ไผ่เพื่อลาดตระเวนทางน้ำในเส้นทางบางกลอยบน – หน่วยพิทักษ์ฯ แม่สะเลียง และเส้นทางตะเกวพาดู – หน่วยพิทักษ์ฯ แม่สะเลียง ซึ่งสามารถลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่แล้วคิดเป็น 57.15% ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทั้งหมด
ความยิ่งใหญ่และความหลากหลายทางชีวภาพของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงถูกผนวกพื้นที่รวมกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เรียกว่า “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของประทศไทย นับเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในภูมิภาคนี้